ความเป็นมาของ NIKKOR

ในพ.ศ. 2460 ได้มีการควบรวมโรงงานกระจกอิวากิ (ซึ่งเป็นแผนกเลนส์ของบริษัทโตเกียว เคอิกิ) เข้ากับโรงงานฟูจิเลนส์ เพื่อก่อตั้งเป็นบริษัท “นิปปง โคงักขุ" (Nippon Kogaku K.K. หรือแปลเป็นไทยได้ว่า บริษัท อุตสาหกรรมเลนส์และกล้องถ่ายรูปแห่งประเทศญี่ปุ่น จำกัด) รับผลิตกล้องส่องทางไกลขายให้กับผู้บริโภคทั่วไป จากนั้น ในพ.ศ. 2475 เครื่องหมายการค้า “NIKKOR” สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์เลนส์ถ่ายภาพได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยคำว่า “NIKKOR” เป็นการนำเอาตัว “R” มาต่อท้ายคำว่า “NIKKO” ซึ่งเป็นชื่อย่อของ Nippon Kogaku อย่างไรก็ดี ประวัติศาสตร์ที่แท้จริงของเลนส์ NIKKOR นั้น เริ่มขึ้นมาจาก “Aero-NIKKOR” ซึ่งเป็นเลนส์สำหรับการถ่ายภาพทางอากาศ เพื่อวัตถุประสงค์ในการทำแผนที่ให้กับทางกองทัพ โดยการจะสร้างแผนที่ที่มีความถูกต้องและรายละเอียดสูงได้นั้น เลนส์ที่ใช้จำเป็นต้องมีความแม่นยำสูงมาก ดังนั้น เพื่อตอบสนองความต้องการนี้ เลนส์ชุดแรกทั้งหมดจึงต้องผลิตด้วยมือ ส่งผลให้มีเลนส์รุ่น Aero-NIKKOR 18cm f/4.5 (พ.ศ. 2476) รุ่น 7.5cm f/3.5 (พ.ศ. 2480) และรุ่น 10cm f/5.6 (พ.ศ. 2482) ตามมา และจากจุดเริ่มสำคัญอันควรค่าแก่การบันทึกในประวัติศาสตร์นี้ NIKKOR ได้ขยายเข้าสู่ตลาดเลนส์สำหรับผู้บริโภค และตลาดเลนส์สำหรับการใช้ในอุตสาหกรรม จนท้ายที่สุด NIKKOR ได้เติบโตจนมาเป็นชื่อที่สื่อถึงเลนส์ทรงพลังที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดของญี่ปุ่น

หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง นิปปง โคงักขุ เริ่มผลิตกล้องเพื่อจำหน่ายแก่ผู้บริโภคทั่วไป และในพ.ศ. 2489 บริษัทฯ ได้ตัดสินใจตั้งชื่อกล้อง 35มม. ของบริษัทฯ ว่า “Nikon” ซึ่งนั่นหมายความว่า ชื่อนิคอนนั้นที่จริงแล้วแล้วมีอายุน้อยกว่า NIKKOR และในปีพ.ศ. 2493 ทั้งสองคำได้กลายมาเป็นชื่อที่ผู้คนทั่วโลกต่างรู้จักดี เนื่องจากได้มีบทความในนิวยอร์กไทมส์รายงานว่า กล้องนิคอนและเลนส์ NIKKOR ที่ช่างภาพจากนิตยสารไลฟ์ใช้ในช่วงระหว่างสงครามเกาหลี (พ.ศ. 2493 ถึง พ.ศ. 2496) นั้นมีประสิทธิภาพเหนือกว่ากล้องเยอรมันและเลนส์ที่ใช้ในยุคนั้น ทั้งนี้ ในพ.ศ. 2495 ได้มีการก่อตั้ง NIKKOR Club ขึ้นมาด้วยความร่วมมือระหว่างนายมาซาโอะ นากาโอกะ (ประธานบริษัท นิปปง โคงักขุ ในขณะนั้น) นายอีเฮอิ คิมูระ นายเคน โดะมอน นายยูซากุ คาเมคูระ และมากาเร็ต เบอร์ก-ไวต์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้เหล่าผู้รักเลนส์ทั้งหลายได้มีโอกาสสานสัมพันธ์ และแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์กันได้ในระดับสากล



ในพ.ศ. 2500 ได้มีการเปิดตัวกล้อง Nikon SP ที่ได้รับการพิสูจน์และยืนยันประสิทธิภาพว่าเทียบเท่ากล้องยอดนิยมอย่าง Leica M3 จากนั้น ในพ.ศ. 2502 ได้เปิดตัวกล้อง Nikon F ที่ได้รับการออกแบบต่อยอดมาจาก Nikon SP โดยกล้องรุ่นนี้เป็นกล้องเอสแอลอาร์ระดับมืออาชีพตัวแรกของนิคอน โดยในขณะนั้น “Nikon F Mount” ถือเป็นมาตรฐานเลนส์เมาต์ของนิปปง โคงักขุ และในปี 2514 ได้มีการเผยโฉมกล้อง Nikon





F2 ที่มีความล้ำหน้ายิ่งขึ จากนั้น NIKKOR ได้ผลิต “AF Nikkor 80mm f/4.5” ซึ่งเป็นเลนส์ออโตโฟกัสเดี่ยวตัวแรกของโลกขึ้น และในพ.ศ. 2520 ได้มีการเปลี่ยน “Nikon F Mount” ให้เป็น “Automatic Maximum Aperture Indexing” ซึ่งเป็นการเสริมประสิทธิภาพให้เลนส์สามารถสื่อสารการปรับขนาดรูรับแสงสูงสุดไปยังตัวกล้องได้โดยอัตโนมัติ และในปี 2523 บริษัทฯได้เปิดตัว Nikon F3 ที่ถือเป็นจุดเริ่มแห่งการยึดฐานที่มั่นของนิคอนในฐานะกล้องชั้นนำของโลก เนื่องจากประสิทธิภาพที่มากมาย รวมไปถึงการได้รับความไว้วางใจจากองค์การนาซ่าให้เป็นกล้องเอสแอลอาร์สำหรับติดตั้งในกระสวยอวกาศต่างๆ ของนาซ่า






เมื่อเวลาผ่านไป ได้มีการเปิดตัวกล้อง Nikon D1 ซึ่งเป็นกล้องดิจิตอลเอสแอลอาร์ในปีพ.ศ. 2542 ตามมาด้วยรุ่นที่เป็นผลพวงของวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีดิจิตอลที่สูงขึ้นเรื่อยๆ อย่าง Nikon D3 ในปี 2550 และ Nikon D4 ในปี 2555 พัฒนาการไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้น เพราะยังได้มีการเปิดตัว Nikon D800 และ D800E ตามมา และเทคโนโนโลยีดิจิตอลได้กลายมาเป็นหัวใจของเทคโนโลยีการถ่ายภาพ โดยในปี 2556 ได้มีการพัฒนาเลนส์ประเภท E ซึ่งเป็นเลนส์ที่ใช้ไดอะแฟรมแม่เหล็กไฟฟ้าในการปรับขนาดรูรับแสงอัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้กลไกที่เชื่อมต่อจากตัวกล้อง ซึ่งต่อมาเลนส์นี้ได้ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย มากกว่าเลนส์เฉพาะทางอย่างเลนส์ PC-E



