ภาษาไทย
ENG
繁體
Tiếng Việt

ความเป็นมาของ NIKKOR

1940’s
เลนส์ NIKKOR-H C 5cm f/2

(พ.ศ. 2489 สำหรับใช้กับกล้อง Leica)

หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่สองสงบลงในปี 2488 บริษัท นิปปง โคงักขุ (ซึ่งปัจจุบันเป็นที่รู้จักในนาม นิคอน) ได้เริ่มหันมาให้ความสนใจกับการผลิตอุปกรณ์เพื่อผู้บริโภคทั่วไป โดยในปีเดียวกันนี้ นิคอนได้ตัดสินใจผลิตเลนส์ถ่ายภาพ เป็นผลิตภัณฑ์เลนส์แบบถอดเปลี่ยนได้ชุดแรกสำหรับเมาท์เลนส์ของ Leica ได้แก่ เลนส์ 5cm f/3.5 (ปี 2488) เลนส์ 5cm f/2 (ปี 2489) เลนส์ 13.5cm f/4 (ปี 2490) เลนส์ 8.5cm f/2 (ปี 2491) เลนส์ 3.5cm f/3.5 (ปี 2491 เช่นกัน) และเลนส์ 5cm f/1.5 (ปี 2492) เป็นที่เลื่องลือกันว่าซาบูโระ มูรากามิเป็นผู้ออกแบบเลนส์ทั้งหกรุ่นนี้ด้วยตัวเอง

1950’s
เลนส์ W-NIKKOR 3.5cm f/1.8

(พ.ศ. 2499 เลนส์ Fast Standard)

รุ่นนี้เป็นรุ่นปรับระนาบด้วยองค์ประกอบเลนส์ 7 ชิ้นแบ่งเป็น 5 กลุ่มที่ได้รับการรังสรรค์โดยนักออกแบบชื่อดังอย่างฮิเดโอะ อาซูมะ สามารถถ่ายภาพที่ระยะใกล้สุด 0.9 เมตร และได้รับการกล่าวขานว่าเป็นเลนส์มุมกว้างที่เร็วที่สุดในโลก ณ เวลานั้น คุณอาซูมะสร้างความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มากมาย และหลายคนยังยกย่องว่าเขาเป็นผู้วางรากฐานเทคโนโลยีการปรับสมดุลความคลาดเคลื่อนให้กับเลนส์ NIKKOR ได้มีการยื่นจดสิทธิบัตรให้กับเลนส์มุมกว้างปกติชิ้นนี้ในปี 2499 และทางสำนักงานสิทธิบัตรแห่งสหรัฐอเมริกา (US PAT) ได้ออกสิทธิบัตรให้ในปี 2502 เป็นหลักฐานยืนยันว่าเลนส์รูปแบบใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว ซึ่งเลนส์ 3.5ซม. ของยุคนี้มักเป็นเลนส์ที่มีขนาดรูรับแสงที่ f/3.5 หรือ f/2.5 เสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น เลนส์ที่ทำงานได้เร็วกว่า f/2 จึงได้รับการขนานนามให้เป็น “ประดิษฐกรรม” ของโลกได้เช่นกัน

เลนส์ Nikkor-S ・C 8.5cm f/1.5

(พ.ศ. 2495)

ในยุคโชวะนั้นมีช่างภาพมือฉมังอยู่สองคนที่โดดเด่นเหนือคนอื่นๆ นั่นคือ เคน โดะมอน และอีเฮอิ คิมูระ ทั้งสองมีความต่างตรงที่ เคน โดะมอน โด่งดังในเรื่องสายตาที่แหลมคมและจิตวิญญาณแห่งการถ่ายทอดสิ่งที่พบเห็น เขาหลงรักเลนส์ NIKKOR ทุกขนาด ตั้งแต่ขนาด 35มม. ไปจนถึงขนาดที่ใหญ่กว่า ในขณะเดียวกัน อีเฮอิ คิมูระ ผู้เป็นที่รู้จักในนามของพ่อมดแห่ง Leica ผู้เชี่ยวชาญการถ่ายภาพสแน็ปช็อตที่สื่อได้ถีงความเป็นมนุษย์และมุมมองของวิถีชีวิตในแต่ละวัน มักเป็นที่กล่าวกันว่า เคน โดะมอนถ่ายภาพที่ดูทรงพลังดังบุรุษ ในขณะที่ภาพของอีเฮอิ คิมูระนั้นจะแสดงออกถึงความงดงามดั่งสตรี แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งสองมีเหมือนกันคือ ต่างรักและวางใจในเลนส์ NIKKOR 8.5cm f/1.5 และได้ใช้เลนส์นี้สร้างสรรค์ผลงานที่โด่งดังมากมาย ปรมาจารย์ทั้งสองนี้ช่วยขจัดความเชื่อผิดๆ ที่ว่า เลนส์ NIKKOR นั้นไม่เหมาะกับการใช้ถ่ายภาพผู้คนให้หมดไปได้อย่างไร้ข้อกังขา เป็นที่รู้กันว่า เลนส์ตัวนี้สามารถลดขนาดรูรับแสงได้อย่างนุ่มนวลถึงจุดที่สามารถให้ภาพมีรายละเอียดของเส้นที่ชัดคม แต่ยังคงมอบโทนสีที่อิ่มและโบเก้ที่ดึงดูดสายตาได้ดีอีกด้วย เพียงแค่การลดระดับรูรับแสงสองสต็อปก็สามารถกำจัดแสงแฟลร์ และทำให้ภาพมีความคมชัด พร้อมคอนทราสต์ในระดับที่พอดี การลดรูรับแสงสต็อปที่ f/5.6-8 จะยิ่งเพิ่มคอนทราสต์และความคมชัดของภาพให้มากยิ่งขึ้นไปอีก

1960’s
เลนส์ NIKKOR-H Auto 2.8cm f/3.5

(พ.ศ. 2503 เลนส์แนวย้อนยุคอันทรงพลัง)

เลนส์นี้เปิดตัวในเดือนมีนาคม 2503 หนึ่งปีหลังจากที่เปิดตัวกล้อง Nikon F ซึ่งในขณะนั้น เลนส์นี้ถือได้ว่าเป็นเลนส์ทรงพลังที่อัดแน่นไปด้วยคุณลักษณะเฉพาะที่ดีที่สุดและครบที่สุดเท่าที่ยุคนั้นจะมีได้ และที่สำคัญอีกอย่างคือ มันเป็นเลนส์ที่ทำให้กล้องเอสแอลอาร์เป็นที่ยอมรับว่าเป็นกล้องเอนกประสงค์ ซึ่งในตอนนั้น กล้อง่ส่วนใหญ่จะมีตัวกำหนดหาระยะ (Rangefinder) และสามารถถอดเปลี่ยนเลนส์ได้ ในขณะที่กล้องเอสแอลอาร์ยังไม่สามารถใช้ได้กับเลนส์มุมกว้างที่ดีๆ ได้ มันจึงถูกมองว่าเป็นกล้องสำหรับงานถ่ายภาพระยะไกล หรือระยะประชิดที่อาจเป็นเรื่องยากเกินไปสำหรับการถ่ายด้วยกล้อง Rangefinder ทั้งนี้ กล้อง Nikon F ที่เปิดตัวในปี 2502 นั้น ถูกออกแบบให้เป็นกล้องเอนกประสงค์ที่จะเอาชนะกล้อง Rangefinder ทั้งหลายโดยการสามารถรองรับทุกสถานการณ์ของการถ่ายภาพได้อย่างแท้จริง และเพื่อให้กล้อง Nikon F ได้รับการยอมรับในเรื่องนี้ มันจึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องพัฒนาเลนส์มุมกว้างที่อัดแน่นไปด้วยประสิทธิภาพให้มาใช้งานคู่กัน ผู้ออกแบบเลนส์ NIKKOR ในตอนนั้น คือคุณวากิโมโตะ ได้ทำการปรับแต่งแก้ไข และยกระดับประสิทธิภาพของเลนส์จนสามารถแก้ไขความคลาดเคลื่อนสีที่ขอบภาพซึ่งเป็นปัญหาและจุดอ่อนของเลนส์แบบโฟกัสแบบเก่าลงได้ ส่งผลให้เกิดเลนส์ขนาด 28มม. ที่มาพร้อมประสิทธิภาพอันเยี่ยมยอด ทุกวันนี้ หลายคนยังคงเชื่อว่าแม้แต่เลนส์ในปัจจุบันก็ยังเทียบคุณภาพของผลงานจากเลนส์นี้ไม่ได้ ภาพที่จะถ่ายทอดความสมจริงได้ในทุกรายละเอียดนั้น จะต้องมีความคมกริบราวใบมีด และมีพลังที่ถ่ายทอดได้ผ่านขนาดรูรับแสงสูงสุด บางทีเลนส์นี้อาจเป็นที่มาของภาพลักษณ์ของเลนส์ NIKKOR ในด้านความคมชัดพร้อมคอนทราสต์สูง

เลนส์ Micro Nikkor Auto 55mm F3.5

(พ.ศ. 2504 เลนส์ไมโครเอสแอลอาร์ที่ทรงพลัง)

หรือภาพที่มีขนาดเล็กมากนั้นมักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการทำสำเนาและการย่อขนาดสำเนา โดยทันทีที่สงครามสิ้นสุดลง ญี่ปุ่นได้ตัดสินใจที่จะนำระบบไมโครไฟล์ซึ่งในขณะนั้นเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมากในอเมริกา มาพัฒนาระบบการเก็บรักษาเอกสารและข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญเอาไว้ อย่างไรก็ดีขนาดรูรับแสงสูงสุดสำหรับเลนส์ของระบบในสมัยนั้นยังมีขนาดเล็กและไม่มีความสามารถพอในการแยกรายละเอียดเล็กๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวหนังสือคันจิที่ใช้ในสมัยนั้นมักจะมีเส้นสายลายขีดมากมาย ดังนั้นหากต้องการให้เห็นความแตกต่าง หลายครั้งจึงต้องมีการนำเอาระบบแยกความละเอียดของตัวหนังสือภาษาอังกฤษมาใช้ แต่หลังจากที่ได้ลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้ง เลนส์ NIKKOR 5cm f/3.5 ที่สมบูรณ์แบบได้สำเร็จเป็นรูปร่างขึ้นมาหลังจากผ่านพ้นการทำต้นแบบไปแล้วสองตัว ศาสตราจารย์โคอานะได้ทำให้โลกต้องตะลึงโดยการแสดงศักยภาพของเลนส์ NIKKOR ที่เพิ่งพัฒนาเสร็จใหม่นี้ในการทำภาพสำเนาบทประพันธ์ซึ่งเป็นนวนิยายขนาดสั้นของฮิกุจิ อิจิโย เรื่อง “Takekurabe” จำนวนทั้งสิ้น 70 หน้าอัดลงไว้ในไมโครการ์ดเพียงชิ้นเดียวได้สำเร็จ คุณอาซุมะ และคุณวากิโมโตะได้พัฒนาเลนส์ Micro NIKKOR ขึ้นตามคำร้องขอของศาสตราจารย์โคอานะ ในปี 2499 ได้มีการเปิดตัวเลนส์ Micro NIKKOR 5cm f/3.5 สำหรับกล้องแบบ S-mount ขึ้น และเมื่อเวลาผ่านไปจนถึงยุคของ Nikon F

คุณวากิโมโตะจึงได้เริ่มปรับแต่งการออกแบบเพื่อที่จะขยายทางยาวของชุดโฟกัสที่สองของเลนส์ S NIKKOR ที่โด่งดังในขณะนั้นให้ดียิ่งขึ้น ผลก็คือ สามารถเพิ่มทางยาวโฟกัสได้ 5มม. ทำให้เกิดเป็นเลนส์ Micro Nikkor Auto 55mm F3.5 และทำให้ชื่อ “Micro NIKKOR” เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในทันที เลนส์ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2504 นั้นเป็นเลนส์แมนนวลที่ช่วยให้สามารถถ่ายภาพด้วยกำลังขยายที่เทียบเท่าเลนส์เดี่ยว แต่ต่อมาในปี 2506 ได้มีการเปิดตัวเลนส์ Micro Nikkor Auto 55mm F3.5

รุ่นที่มีกลไกปรับขนาดรูรับแสงอัตโนมัติที่สามารถรักษากำลังขยายสูงสุดของเลนส์ได้ที่ระดับ 0.5 เท่า ซึ่งนี่ถือเป็นจุดเริ่มแห่งประวัติศาสตร์ของ Micro NIKKOR

เลนส์ PC-NIKKOR 35mm f/3.5

(พ.ศ. 2505 เลนส์เอสแอลอาร์พร้อมกลไกควบคุมสัดส่วนภาพตัวแรกของโลก)

การเปิดตัว PC-NIKKOR ซึ่งเป็นเลนส์แบบถอดเปลี่ยนได้สำหรับกล้องเอสแอลอาร์ในเดือนกรกฎาคม ปี 2505 นั้นได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม ด้วยแนวคิดของผู้พัฒนาออกแบบในตอนนั้นก็คือ การจับเอาความสามารถในการปรับการมองมุมเอียง (tilt) และเลื่อนระนาบ (shift) ซึ่งเป็นเทคนิคที่มีในกล้องรุ่นใหญ่ ให้มาอยู่ในเลนส์ 35มม. (135) ขนาดพกพาที่ใช้ได้กับกล้องเอสแอลอาร์ ทั้งนี้ ได้มีการทดลองออกแบบมากมายนับไม่ถ้วนกว่าจะได้มาเป็นเลนส์ PC-NIKKOR 35mm f/3.5 ตัวแรก โดยตัวต้นแบบรุ่นแรกๆ นั้นได้มีการใส่กลไก tilt เข้าไปด้วย แต่เลนส์มุมกว้างขนาด 35มม. นั้นมีความชัดลึกที่เพียงพออยู่แล้ว ซึ่งต่างกับเลนส์รุ่นที่ใหญ่กว่า ดังนั้นจึงได้มีการถอดกลไกนี้ออกไป เนื่องจากไม่มีความจำเป็นต้องใช้บ่อยๆ ทำให้เลนส์มีขนาดกะทัดรัด และมีกลไกที่ไม่ซับซ้อนจึงใช้งานได้ง่าย เราอาจกล่าวได้ว่า การพัฒนาเลนส์ PC-NIKKOR นั้นล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและชำนาญงานของผู้ออกแบบกลไก(เลนส์)อย่างแท้จริง

เลนส์ OP Fisheye-NIKKOR 10mm f/5.6

(พ.ศ. 2511 เลนส์เอสแอลอาร์แอสเฟอริคัลตัวแรกของโลก)

ประวัติศาสตร์เลนส์ฟิชอายของนิคอนนั้นมีมาช้านาน โดยเริ่มจากเลนส์รุ่น 16mm f/8 (มุมมอง 180 องศา) ในปี 2481 ต่อมาในเดือนมีนาคม ปี 2500 เลนส์นี้ได้รับการปรับแต่งให้กลายเป็นเลนส์ Fish-eye-NIKKOR 16.3mm f/8 จากนั้นได้มีการเปิดตัวเลนส์ OP Fisheye-NIKKOR 10mm f/5.6 ในปี 2511 ซึ่งถือเป็นเลนส์ฟิชอายรุ่นที่สี่ของ NIKKOR ต่อจากเลนส์รุ่น 7.5mm f/5.6 เลนส์ OP Fisheye เป็นเลนส์สำหรับการฉายภาพสองมิติ จึงทำให้วัตถุที่อยู่ตรงกลางนั้นมีขนาดใหญ่กว่าเลนส์ฟิชอายประเภทอื่นๆ และทำให้วัตถุอื่นๆ โดยรอบดูเหมือนถูกบีบและเล็กกว่า การสร้างภาพฉายสองมิติที่ไม่คลาดเคลื่อนนั้นสามารถทำได้โดยทำเลนส์ด้านหน้าสุดเป็นทรงกลม ดังนั้น เลนส์ OP Fisheye จึงไม่ใช่เลนส์ฟิชอายสำหรับภาพฉายตัวแรกของโลกเท่านั้น แต่มันยังเป็นเลนส์แอสเฟอริคัลสำหรับกล้องเอสแอลอาร์ตัวแรกของโลกอีกด้วย

1970’s
เลนส์ Nikkor Auto 35mm f/1.4

(พ.ศ. 2514 เลนส์มัลติโค้ตตัวแรกของนิคอน)

จากแผนการออกแบบที่จะทำให้เลนส์ W-NIKKOR 35.cm f/1.8 มีความเร็วมากขึ้น โดยต้องการให้เป็นให้เลนส์มุมกว้างแต่มีข้อจำกัดว่ายังคงต้องใช้ชิ้นเลนส์มาตรฐานและฟิลเตอร์ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเท่าเดิม ซึ่งผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ออกแบบเลนส์ที่ท้าทายนี้ก็คือโยชิยูกิ ชิมิสึ ผลก็คือ เลนส์รุ่นนี้ได้เปิดตัวสู่สายตาชาวโลกในปี 2514 โดยที่มันเป็นเลนส์ตัวแรกของ NIKKOR ที่มีคุณลักษณะของการเคลือบผิวหลายชั้น และยังเป็นเลนส์ 35mm f/1.4 ตัวแรกของโลกที่ใช้กับกล้องเอสแอลอาร์ซึ่งอัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีที่ดีที่สุดและครบครันที่สุดของนิปปง โคงักขุในตอนนั้น หลังจากเปิดตัวเลนส์นี้ไปแล้ว ได้มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงการเคลือบผิวมากมาย ซึ่งล่าสุดก็คือการเคลือบแบบ Super Integrated Coating แต่สุดท้ายแล้ว ความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเจนเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการออกแบบเลนส์มาเป็น NEW-NIKKO โดยแม้ว่าองค์ประกอบหลักๆของเลนส์จะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรจากเมื่อเปิดตัวในครั้งแรก เทรุโยชิ สึนางิมะ ผู้ออกแบบได้เปลี่ยนองค์ประกอบของชิ้นกระจกและความโค้งมนของเลนส์ ทำให้การทำงานของรูรับแสงมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น เหตุผลสำคัญที่ทำให้เลนส์นี้ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายตลอดช่วง 30 ปีต่อจากนั้น ก็คือเอกลักษณ์ในความเป็นเลนส์ NIKKOR ที่คงความสมบูรณ์แบบและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จวบจนวันนี้ ยังไม่มีเลนส์ใดสามารถเทียบชั้นได้กับเลนส์ 35mm f/1.4 ติดฟิลเตอร์ขนาด 52มม. แม้ในปัจจุบัน เลนส์นี้ยังคงรักษาตำแหน่งเลนส์ 35mm f/1.4 ที่เล็กที่สุดสำหรับกล้องเอสแอลอาร์









เลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้สำหรับโอลิมปิก: 300mm f/2.8

(พ.ศ. 2515 กีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ซัปโปโร)

คำแนะนำของช่างภาพข่าวและกีฬามีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเลนส์เทเลโฟโต้ และซูเปอร์เทเลโฟโต้ ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลว่า ทำไมคุณลักษณะเด่นของเลนส์ NIKKOR ที่พัฒนาขึ้นมาในแต่ละรุ่นจึงมักสัมพันธ์กับเหตุการณ์ที่สำคัญๆ ในประวัติศาสตร์ ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาเลนส์โฟกัสซิ่งยูนิตอย่าง NIKKOR Auto 400mm f/4.5, NIKKOR Auto 600mm f/5.6, NIKKOR Auto 800mm f/8 และ NIKKOR Auto 1200mm f/11 นั้นมีความเชื่อมโยงกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวในปี 2507 ในขณะที่เลนส์ NIKKOR-H 300mm f/2.8 นั้นจะสัมพันธ์กับกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ซัปโปโร ในปี 2515 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เลนส์ NIKKOR-H 300mm f/2.8 ตัวแรกของ NIKKOR นั้น เกิดขึ้นมาจากคำร้องขอของช่างภาพข่าวที่ต้องการเลนส์ถ่ายภาพในร่มได้อย่างคมชัดโดยสามารถถ่ายได้จากที่ที่ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อจะมาใช้บันทึกภาพการแข่งขันที่ซัปโปโร หากพูดถึงเลนส์ NIKKOR-H 300mm f/2.8 ในตอนนี้ อาจกล่าวได้ว่ามันเป็นเลนส์เทเลโฟโต้ที่ได้รับความนิยมอย่างมากทั้งในมืออาชีพและมือสมัครเล่น แต่หากย้อนกลับไปในช่วงที่พัฒนาเลนส์นี้ขึ้นมาตอนแรกนั้น จะพบว่ามันเป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อมืออาชีพสำหรับการถ่ายภาพแบบพิเศษเฉพาะทางเท่านั้น คุณลักษณะที่เด่นที่สุดอย่างหนึ่งของเลนส์นี้ก็คือ การใช้กระจกแบบกระจายแสงต่ำพิเศษ (ที่ในภายหลังได้รับการจดลิขสิทธิ์ในชื่อ กระจก “ED - Extra-low Dispersion”) ซึ่งสามารถกำจัดความเพี้ยนสีที่มักเกิดขึ้นบ่อยๆ กับเลนส์เทเลโฟโต้ออกไปได้จนหมดสิ้น อีกหนึ่งคุณสมบัติหลักก็คือ รูรับแสงของเลนส์นี้อยู่ที่ศูนย์กลางของระบบเลนส์ ทำให้มันเป็นรูรับแสงแบบปกติ แทนที่จะเป็นแบบอัตโนมัติ เหล่าช่างภาพมืออาชีพ ณ ช่วงเวลานั้นกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “ขณะถ่ายภาพการแข่งขันกีฬาในร่มนั้น เราจะเปิดรูรับแสงเมื่ออยู่ระยะประชิดเท่านั้น ซึ่งรูรับแสงเล็กๆจะมีประโยชน์ก็เฉพาะตอนที่ต้องการถ่ายภาพช้าๆ ดังนั้น มันจึงไม่ใช่สิ่งสำคัญที่รูรับแสงจะต้องเป็นแบบอัตโนมัติ การเน้นประสิทธิภาพของเลนส์นั้นมันสำคัญกว่าเรื่องอื่นๆ อยู่แล้ว!” ผู้ออกแบบเลนส์ NIKKOR-H 300mm f/2.8 คือโยชิยูกิ ชิมิสึ วงภาพของเลนส์นี้จึงครอบคลุมพื้นที่ 6x6 ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ โดยนอกเหนือไปจากการแก้ไขปัญหาเรื่องความเพื้ยนของสี ความคลาดเคลื่อนทรงกลม และความผิดเพี้ยนเพียงเล็กน้อย เลนส์นี้ยังช่วยลดความเอียงและความบิดเบี้ยวได้เป็นอย่างดีอีกด้วย และที่มากไปกว่านั้นก็คือ เลนส์นี้ยังให้ความละเอียดสูงและการแยกสีที่ยอดเยี่ยม ผู้ถ่ายภาพจึงสามารถคาดหวังผลงานจากเลนส์นี้ได้ว่าจะมีการไล่เฉดและโบเก้เลือนฉากหลังที่ดีอย่างไร้ที่ติ

1990’s
เลนส์ Ai AF DC NIKKOR 135mm f/2D

(พ.ศ. 2534 เลนส์เทเลโฟโต้ระยะกลางที่ให้การโฟกัสแบบชัดตื้น)

ลนส์ที่มีความล้ำหน้า สามารถแก้ปัญหาสำคัญของเลนส์ทั่วไปที่ไม่อาจบันทึกภาพให้งดงามได้ทั้งโบเก้ฉากหลังและฉากหน้า ทั้งนี้ โบเก้ที่คนทั่วไปเห็นว่าสวยนั้น มักจะมีการให้แสงตรงกลางมาก และมีความเรืองรอบๆ จุดนี้ หรือพูดอีกอย่างก็คือ รูปทรงของโบเก้นั้นยังต้องถูกจำกัดด้วยขอบเขตของความคลาดเคลื่อนทรงกลม ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเราจึงไม่สามารถมีเลนส์ที่ให้โบเก้ฉากหน้าและฉากหลังได้สวยทั้งสองแบบ ดังนั้น แนวคิดของ DC (Defocus Image Control) จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมา แนวคิดนี้จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถเลือกลักษณะภาพได้ตามต้องการ แน่นอนว่าโบเก้ดีๆ นั้นจำเป็นต้องใช้เลนส์ขนาดใหญ่ เลนส์นี้มีกลไกโฟกัสอยู่ด้านท้ายหรือ RF (Rear Focusing) เพื่อมอบระบบออโต้โฟกัสความเร็วสูง การประกอบเลนส์เป็นแบบ Gauss ดัดแปลง โดยใช้เลนส์ 7 ชิ้นแบ่งเป็น 6 กลุ่มพร้อมวงแหวน DC

ที่ควบคุมลักษณะของความคลาดทรงกลมได้ดีที่สุดสำหรับค่ารูรับแสงในแต่ละขนาด ผ่านการเคลื่อนกระจกเลนส์ชิ้นที่สามและสี่ ในขณะที่กระจกเลนส์สามชิ้นสุดท้ายจะมีไว้เพื่อปรับโฟกัสชุดที่อยู่ด้านท้าย (Rear Focusing) ค่าโรงงานจะตั้งไว้ที่ f/5.6 เนื่องจากหากตั้งค่ารูรับแสงเล็กเกินไป ระบบ DC จะทำงานได้ไม่ดีและให้โบเก้น้อย แต่เนื่องจากแนวคิดแรกเริ่มนั้น ต้องการให้ใช้ได้จนถึง f/11 ดังนั้นจะเห็นได้ว่ายังคงปรับวงแหวน DC ไปถึงระดับนี้ได้อยู่ เมื่อหมุนวงแหวนจนสุดจะทำให้เอฟเฟกต์ซอฟต์โฟกัสดูน่าสนใจ เลนส์นี้จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นหากนำไปใช้กับกล้องดิจิตอลที่สามารถตรวจดูเอฟเฟกต์ของ DC ได้ทันที

เลนส์ AF Zoom-Micro NIKKOR ED 70-180mm f/4.5-5.6D

(พ.ศ. 2540 เลนส์ไมโครซูมออโตโฟกัสรุ่นแรกของโลก)

ภาพถ่ายแบบไมโครจำเป็นต้องอาศัยการซูม ยกตัวอย่างการภาพถ่ายแบบไมโครโดยใช้ขาตั้งกล้อง ซึ่งการจะปรับระดับขยายภาพแต่ละครั้งนั้นเป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่ายแม้ว่าจะใช้เลนส์ที่คุ้นมือที่สุดแล้วก็ตาม ดังนั้น หากเลนส์ที่ใช้สามารถซูมได้ มันจะช่วยเพิ่มความสะดวกให้ได้มากทีเดียว ซึ่งนี่เป็นแนวคิดที่ผลักดันให้เกิดการพัฒนาเลนส์ไมโครซูมตัวนี้ขึ้นมา โดยการแยกชุดเลนส์ออกเป็นสองกลุ่มให้สามารถทำงานเป็นอิสระจากกัน ที่รักษาระยะห่างคงที่ได้แม้ในขณะซูม ผลที่ได้ก็คือ เลนส์ชั้นเยี่ยมที่ช่วยให้สามารถทำงานได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องเปลี่ยนตำแหน่งถ่ายภาพหรือปรับจุดโฟกัส อีกหนึ่งคุณลักษณะของเลนส์นี้ก็คือ ภาพจะไม่มืดแม้ค่าแสงจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ไม่ว่าจะถ่ายภาพที่ระยะใด เลนส์นี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามันได้รับความนิยมอย่างสูงนับตั้งแต่การเปิดตัวในปี 2540 และได้กวาดรางวัลมาแล้วหลายรายการ รวมถึงรางวัลที่หนึ่งด้านการออกแบบเลนส์จากที่ประชุมสัมมนาของวงการ เลนส์นี้ได้รับความชื่นชมเป็นพิเศษจากบรรดานักออกแบบเลนส์ ด้วยความที่มันเป็นสิ่งที่มอบประสบการณ์แห่งอิสรภาพในการใช้งานอย่างแท้จริง ช่วยให้สามารถจดจ่อกับการถ่ายภาพมาโครพร้อมๆ ไปกับปรับองค์ประกอบภาพด้วยการซูมได้ เลนส์นี้ได้รับการแนะนำให้ใช้กับการถ่ายภาพดอกไม้ที่งดงาม หรือภาพในแนวเขาซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งที่น่าค้นหา

2000’s
เลนส์ AF Zoom NIKKOR 80-400mm f/4.5-5.6D VR

(พ.ศ. 2543 เลนส์ตัวแรกจาก NIKKOR ที่มีระบบปรับการสั่นไหวอัตโนมัติ)

แม้ว่าการเปิดตัว Nikon Zoom 700VRQD (ปี 2537) กล้องที่มีระบบลดความสั่นไหวในตัวรุ่นแรกของโลกจะไม่ได้สร้างความตื่นตัวในตลาดมากนัก แต่นิคอนยังคงพัฒนาต่อยอดด้วยการเปิดตัวเลนส์รุ่นนี้ ที่เป็นเลนส์แบบถอดเปลี่ยนได้รุ่นแรกที่มาพร้อมระบบลดความสั่นไหว (VR) ในตัว เลนส์นี้ได้รับการออกแบบโดยมาซายูกิ อาโอกิ นักออกแบบเลนส์มือฉมังที่เปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่น เลนส์ซูมแบบหกชุดที่ปิดหน้าด้วยชุดเลนส์นูนนี้สะท้อนให้เห็นถึงบุคลิกภาพของผู้สร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดีผ่านทางความสามารถและประสิทธิภาพของเลนส์ เลนส์นี้ใช้ระบบลดความสั่นไหวสองชุด (เป็นคุณลักษณะมาตรฐานในปัจจุบัน) เพื่อให้การทำงานของชิ้นเลนส์ต่างๆ มีความมั่นคง โดยยังคงประสิทธิภาพเยี่ยมแม้เมื่อมีการเปิดใช้ระบบลดความสั่นไหว